แพลตฟอร์ม IDA: Industrial IoT and Data Analytics Platform หรือแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของ เนคเทค-สวทช. กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรรัฐและเอกชน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเนคเทค - สวทช. ได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อทำการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยร่วมกันผลักดันแพลตฟอร์ม IDA หรือ Industrial IoT and Data Analytics Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มไอโอที (IoT) Big Data อุตสาหกรรมและระบบวิเคราห์ข้อมูล สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการเชื่อมโยงข้อมูลจากเครื่องจักรการผลิตและนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์แบบเชิงลึก เพื่อนำข้อมูลนั้นมาช่วยในเรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการผลิตและหาวิธีเพื่อช่วยอนุรักษ์พลังงานอย่างดีที่สุด
เนคเทค-สวทช. ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 หลายผลงาน เช่น (1) อุปกรณ์ Universal Remote Terminal Unit หรือ uRTU ใช้เชื่อมต่อเซนเซอร์ต่างๆ ในโรงงานขึ้นสู่ IoT คลาวด์ (2) NETPIE ซึ่งเป็น IoT คลาวด์ พัฒนาโดย เนคเทค และศูนย์ระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) สวทช. ซึ่งปัจจุบันได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังบริษัทเอกชนและให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว แพลตฟอร์ม IDA สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายงาน อาทิเช่น
(1) การตรวจวัดปริมาณการใช้พลังงานในโรงงาน (Energy Monitoring)
เพื่อเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงาน
(2) การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต หรือ Overall Equipment Effectiveness (OEE) เพื่อเพิ่มผลผลิต (Productivity) แก่โรงงานอุตสาหกรรม
(3) การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance) เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษาเครื่องจักรในโรงงาน
โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการผ่านโรงงานอุตสาหกรรมนำร่อง จำนวน 10-20 โรงงานในช่วงปี 2563 และขยายสู่ 500 โรงงานในระยะ 3 ปี โดยเป็นความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ เนคเทค-สวทช. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรเอกชนอื่นๆ ด้วย
นายจำรัส สว่างสมุทร (ผู้อำนวยการใหญ่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) กล่าวว่า แพลตฟอร์ม "IDA" จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการนั้นสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงได้ ในราคาที่ไม่สูงมากและสามารถจับต้องได้ ที่สำคัญเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาภายในประเทศโดยคนไทย
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้งานแพลตฟอร์ม IDA :
1. ประเทศไทย :
IDA Platform จะทำการแสดงผลและรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานของโรงงานอุตสาหกรรมแบบทันท่วงที (Real-time) ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานภายในประเทศนั้นสามารถเห็นข้อมูลภาพรวม เพื่อนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศไทย และยังสามารถนำข้อมูลด้าน Industrial Big Data นี้ไปใช้ในการจัดทำกลยุทธหรือวางแผนการจัดการด้านพลังงานของประเทศได้อย่างแม่นยำ
2. สถานประกอบการ :
1) ผู้ประกอบการสามารถตรวจจับการใช้พลังงานในระดับเครื่องจักรแบบทันท่วงที (Real-time) ช่วยให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจในการวางแผนและบริหารจัดการพลังงาน ในสถานประกอบการของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) ต่อยอดไปสู่การวัดประสิทธิภาพทางการผลิตของเครื่องจักร (Overall Equipment Effectiveness : OEE) และช่วยบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance)
3. เศรษฐกิจ :
ส่งเสริมการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ประกอบการให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทาน และเกิดมูลค่าการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและพัฒนาคุณค่าผลิตภัณฑ์และบริการจากงานวิจัยไทย
จากความร่วมมือของพันธมิตรรัฐและเอกชนในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ รวมทั้งช่วยสถานประกอบการ/โรงงาน/บริษัท SME ให้สามารถยกระดับความสามารถสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตลอดจนให้ประเทศไทยมี Big Data ข้อมูลสถานภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมไทยในระดับมหภาคที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายระดับชาติได้อีกด้วย ส่งผลให้นโยบาย Thailand 4.0 เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และประเทศไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ติดตามข่าวสารของสถาบันเพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : https://www.facebook.com/icticlub/
Line OA : https://lin.ee/b1JqyoV